วัดพระทอง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 30 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 2 แปลง เนื้อที่ 18 ไร่ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2328 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2523 อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 บานประตูหน้าต่างใช้ไม้สักแกะสลักภาพพุทธประวัติ ภายในอุโบสถมีภาพเขียนเรื่องพาหุง พระเจ้าสิบชาติ พระเวสสันดร พื้นปูด้วยหินอ่อน ศาลาการเปรียญกว้าง 16 เมตร ยาว 52 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น กุฏิสงฆ์จำนวน 7 หลัง เป็นอาคารไม้และคอนกรีตชั้นเดียวและสองชั้น
ที่วัดแห่งนี้ มีเอกลักษณ์สำคัญคือ มีพระพุทธรูปโบราณที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นเพียงครึ่งองค์ โดยที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องเล่าว่า เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดเคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่มาก่อน อยู่มาวันหนึ่งมีเด็กชายพากระบือไปเลี้ยงที่ทุ่งและได้นำเชือกที่ล่ามกระบือไปผูกไว้กับตอไม้ริมคลองที่มีโคลนตมติดอยู่ พอกลับมาบ้าน เด็กคนนี้ก็เกิดอาการเป็นลมตายและกระบือที่ล่ามไว้กับตอไม้ก็ตายไปด้วยกัน
ต่อมาพ่อของเด็กชายฝันว่า การที่เด็กและกระบือตายนั้นเพราะนำเชือกล่ามกระบือไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป เขาจึงชวนเพื่อนบ้านไปขัดล้างตอไม้ริมคลองแห่งนั้น แล้วสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น กลับมีลักษณะเหมือนเกศของพระพุทธรูปและเป็นทองคำ จนชาวบ้านต่างพากันมาบูชาสักการะกันมากมาย เมื่อเจ้าเมืองทราบข่าว ก็สั่งให้ทำการขุดพระพุทธรูปขึ้นมา แต่ไม่สามารถขุดขึ้นมาได้ บางคนถูกตัวต่อ ตัวแตนอาละวาด เป็นพิษจนถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองจึงสั่งให้สร้างสถานที่ขึ้นมาคลุมเอาไว้ และชาวบ้านก็กราบไหว้กันเรื่อยมา พร้อมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้เรียกว่า พระผุด เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกศมาลา นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าที่เอ่ยถึงพระผุดองค์นี้ในเหตุการณ์ศึกพระเจ้าปะดุง ที่ยกพลมาตีเมืองถลางในปี พ.ศ. 2328 ว่า ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปครั้งใดก็จะมีฝูงแตนไล่ต่อย จนต้องละความพยายามไปในที่สุด จนเมื่อมีพระธุดงค์มาปักกลดบริเวณนี้แล้วสร้างวัดขึ้น โดยได้อัญเชิญพระผุดเป็นพระประธานในโบสถ์ กล่าวกันว่า พระผุดเป็นพระทองคำ จึงมีการพอกปูนทับลงไปอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในวัดยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ตแต่โบราณมากมายไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาอีกด้วย
ที่วัดพระทอง ยังมีตำนานลายแทงปริศนา ซึ่งมีประวัติดังนี้ เมื่อปี พ.ศ.2511 สมัยพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล (สุขุม อิสิญาโณ) เป็นเจ้าอาวาส ได้จัดพิธีปลุกเสกเหรียญพระทอง รุ่นแรก โดยเจ้าอาวาสรูปแรกได้เข้าประทับทรงในพิธี ท่านบอกว่า ท่านชื่อ “หลวงพ่อสิงห์” ท่านเป็นผู้สร้างวัด เมื่อสร้างวัดเสร็จท่านได้เขียนลายแทงผูกเป็นปริศนาไว้ และอธิษฐานว่า เจ้าอาวาสรูปใดแก้ปริศนาไม่ได้ก็อยู่วัดนี้ไม่ได้
“ยักสามยักสี่ หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดสบให้เอาที่กบปากแดง ผู้ใดคิดแจ้งให้เอาจากแร้งล่อคอ”
หลังจากนั้นปรากฏว่าไม่มีพระรูปใดแก้ปริศนาได้ มีพระมาเป็นเจ้าอาวาสอีก 13 รูปก็เป็นได้เพียงช่วงสั้นๆ 1 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง ไม่มรณภาพ ก็เสียสติ จนได้ชื่อว่า “วัดพระผุดกินสมภาร” ไม่มีใครกล้ามาจำพรรษา วัดจึงร้างมานาน จนมีต้นไม้ใหญ่และขมิ้นป่าปกคลุมเต็มวัด เหลือแต่พระทองที่มีปูนโบกสวมไว้ พอถึงเทศกาลตรุษจีน คนจีนจะมาถางหญ้าแล้วพากันมากราบไหว้บูชา เมื่อหมดเทศกาลหญ้าก็ขึ้นรกเหมือนเดิม
หลวงพ่อสุขุมเล่าว่าสาเหตุที่คนจีนนับถือพระทองกันมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างขึ้น ในอดีตคนธิเบตไปยึดเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ลงเรือผ่านมาทางมหาสมุทรอินเดีย เรือเกิดล่มพายุพัดเข้ามาชายฝั่ง และพระพุทธรูปก็ถูกน้ำพัดมา จนมาปรากฏขึ้นดังที่เห็น
ในปี พ.ศ.2443 หลวงพ่อฝรั่งได้มาเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ 15 ท่านสามารถแก้ปริศนาได้ ปริศนาลายแทงที่หลวงพ่อฝรั่งแก้ได้ มีดังนี้
- ‘ยักสามยักสี่’ – ศาลเจ้าต่างๆ ได้อัญเชิญเทพเจ้าประทับทรง ยกขบวนแห่มานมัสการพระทองในเทศกาลตรุษจีน เมื่อขบวนแห่มาถึงวัด คนหามเกี้ยว 4 คน เดินแห่รอบอุโบสถ 3 รอบ
- ‘หามผีมาเผาผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ’ – ขบวนหามเกี้ยวจะหามไม้จันทน์ ไม้จวงมาด้วย ไม้ที่หามมานั้น ตัดเป็นท่อนสั้นๆ และยังเป็นไม้สดอยู่ พร้อมกับนำเตาเผาใบใหญ่ 1 ใบ มาวางไว้ตรงหน้าพระทอง แล้วเอาไม้สดเผาไฟ ก็มีควันหอมฟุ้งไปทั่ว
- ‘ผู้ใดคิดสบให้เอาที่กบปากแดง’ – คนโบราณจะไม่พูดตรงๆ ว่าทองคำ แต่จะพูดแทนด้วยว่า กบ เขียด กุ้ง ปลา เต่า คำว่ากบจึงหมายถึงทองคำ คือใครปรารถนาสิ่งใดให้อธิษฐานกับพระทอง
- ‘ผู้ใดคิดแจ้งให้เอาจากแร้งล่อคอ’ – คือ การอธิษฐานและทำการเขย่าไม้เชียมซี เพื่อดูคำทำนายตามใบเซียมซี
เมื่อศาลเจ้าต่างๆ เข้าไปนมัสการพระทองในวิหารแล้ว คนทรงก็ฟุบแน่นิ่งอยู่หน้าพระทอง แล้วค่อยๆ รู้สึกตัวเป็นอันเสร็จพิธี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันจึงมีศาลเจ้ามานมัสการพระทองไม่มากเช่นในอดีต แต่ก็ยังมีบางศาลเจ้าที่ยังคงมาอยู่เป็นประจำทุกปี เช่น ศาลเจ้าท่าเรือ ศาลเจ้าเมืองใหม่ ศาลเจ้าบ้านเคียน เป็นต้น
จากความเชื่อว่า หลวงพ่อฝรั่งสามารถแก้ปริศนาลายแทงของหลวงพ่อสิงห์ได้ ท่านจึงเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้นานรวม 58 ปี ท่านเป็นผู้บุกเบิกสร้างความเจริญให้กับวัด เช่น สร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยมีคนจีนจากปีนังช่วยออกเงินสร้างให้ และปฏิสังขรณ์สร้างสวมพระทองดังที่เห็นในปัจจุบัน ก็ได้คนจีนจากปีนังช่วยออกเงินเช่นกัน