แม้ว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีจะช่วยให้เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้แค่เพียงปลายนิ้วมือคลิก แต่อรรถรสที่เราได้รับ ระหว่างการออกไปเรียนรู้นอกบ้านตามแหล่งศึกษาหาความรู้ทั่วไป กับการเรียนรู้เพียงอยู่หน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นั้น มันช่างต่างกันลิบลับ
จริงอยู่ว่า คนยุคใหม่สามารถสร้างอะไรได้มากมายที่มาทดแทนสิ่งเก่าๆ ที่อาจจะดูเชยและล้าสมัย แต่ก็อย่าลืมว่า รากเหง้าของความเป็นเราก็เริ่มต้นจากคนรุ่นเก่าหรือบรรพบุรุษเราได้สร้างไว้ให้นั่นเอง ดังนั้นเราจึงควรยอมรับและเรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์หรืออดีตที่ผ่านมา นำมาต่อยอดและยังคงรักษาไว้ซึ่งสิ่งดีๆ ที่เรามี ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ของเราเอง แต่เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและบ้านเมืองของเราต่อไปในอนาคต
เราจึงอยากพาทุกท่านไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สำคัญในภูเก็ต ที่ขณะนี้ได้ผ่านการบูรณะปรับปรุง ปรับโฉมใหม่ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ที่นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ภูเก็ต”
‘พิพิธภัณฑ์ฯ ถลาง’ แหล่งรวมโบราณวัตถุมาสเตอร์พีซแห่ง ‘อันดามัน’
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ไม่ไกลจากวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรมากนัก สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนไทม์แมชชีนที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา ตลอดจนเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยได้อย่างน่าทึ่ง ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังสร้างขึ้นอย่างสวยงามตามแบบพื้นถิ่นประยุกต์ จนได้คว้ารางวัลผลงานด้านสถาปัตยกรรมดีเด่นของ จ. ภูเก็ต อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ฯ ถลาง แบ่งห้องจัดแสดงเป็นส่วน ๆ โดย ห้องจัดแสดงที่ 1 นำเสนอเรื่องธรณีวิทยาเกาะภูเก็ตและโบราณคดีฝั่งทะเลอันดามัน ห้องจัดแสดงที่ 2 เรื่องราวของวีรสตรีเมืองถลาง จำลองวีรกรรมทางประวัติศาสตร์ศึกถลาง ปี 2328
ห้องจัดแสดงที่ 3 เป็นเรื่องราวของชาวจีนกับการพัฒนาเมืองภูเก็ต ห้องจัดแสดงที่ 4 เรื่องคนภูเก็ต สื่อพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต อันได้แก่ ไทยมุสลิม ไทยพื้นถิ่น และชาวเล ต่อมาเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน พื้นที่เรียนรู้ที่จะมีนิทรรศการหรือกิจกรรมหมุนเวียนตลอดปี
ไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง ที่เชื่อว่าผู้เข้าชมจะต้องประหลาดใจ ก็คือ การจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่พบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งยังไม่เคยจัดแสดงมาก่อน อาทิ กลุ่มเทวรูปวิษณุมัธยมโยคสถานกมูรติจากแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ จ.พังงา เป็นเทวรูปพระวิษณุ ศิลปะอินเดียแบบหลังปัลลวะ อายุกว่า 1,000 ปี และยังมีพระพิมพ์ดินดิบ ศิลปะศรีวิชัยจากแหล่งโบราณคดีเขานุ้ย จ.ตรัง กลุ่มลูกปัดโรมันจากแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จ.กระบี่
นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ยังมีแผนที่จะนำเสนอโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีชิ้นใหม่เพิ่มเติม เช่น พระพิมพ์ดินดิบเขานุ้ย จ.ตรัง ภาชนะดินเผานำเข้าจากอินเดีย แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ จ.ระนอง
รวมถึงหลักฐานการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เช่น ที่แหล่งเรือจมปากคลองกล้วย จ.ระนอง ซึ่งเป็นร่องรอยเรือที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-6 ข้อมูลแหล่งภาพเขียนสีที่สำรวจพบใหม่ในพื้นที่ จ.พังงาและกระบี่ มาจัดแสดงอีกด้วย
แม้ขณะนี้ การปรับปรุงอาคารและนิทรรศการถาวรภายในอาคารนิทรรศการ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็มีรายการแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 70 ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ
เชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ฯ ถลางแห่งนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจความเป็นมาเกาะภูเก็ต และชุมชนริมฝั่งทะเลอันดามันที่สั่งสมอารยธรรมมายาวนานมากยิ่งขึ้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เปิดให้เข้าชม วันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุด จันทร์ – อังคาร) เวลา 09.00 น. ถึง 16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาทยกเว้นพระภิกษุ สามเณร และนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finearts.go.th/talangmuseum