หากเอ่ยถึงชื่อ พลับพลึง เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักและเคยเห็นกันอยู่บ้าง แต่ถ้าพูดถึงชื่อ พลับพลึงธาร คิดว่าหลายท่านอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยได้ยินชื่อ

แล้วทำไมอยู่ดีๆ เราถึงได้เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา ก็เพราะพลับพลึงธาร เป็นพืชน้ำที่พบเฉพาะถิ่นทางใต้ และนับวันก็เริ่มจะหายากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เราจึงอยากพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักพืชน้ำชนิดนี้กันค่ะ

พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ (อังกฤษ: Onion plant, Thai onion plant, Water onion) เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Crinum thaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยพลับพลึงธาร พบได้เฉพาะที่จังหวัดระนองตอนล่างและพังงาตอนบนเท่านั้น

ในจังหวัดระนอง มีการพบพลับพลึงธารที่คลองนาคา ตำลนาคา อำเภอสุขสำราญ และที่คลองบางปรุ ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ ส่วนที่จังหวัดพังงา พบที่คลองตาผุด บ้านห้วยทรัพย์ คลองสวนลุงเลื่อน ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี คลองนายทุย คลองบ้านทับช้าง คลองบ้านโชคอำนวย ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี และตามคลองย่อยต่าง ๆ ในเขตรอยต่ออำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่า

และที่สำคัญ ปัจจุบันพบพลับพลึงธารเหลือเพียงร้อยละ 1 ของพื้นที่เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี ค.ศ. 2011 สาเหตุของการลดลงเนื่องจาก การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

พลับพลึงธารเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ดินทราย และดินร่วนเหนียวปนทราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นลำคลองที่มีการไหลเวียนของน้ำดีแต่กระแสน้ำไม่แรงมากเกินไป พลับพลึงธารจึงถือเป็นดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและลำคลอง จะออกดอกและบานสะพรั่งในช่วงหน้าแล้งของพื้นที่อันดามันตอนบน ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ดอกมีความสวยงามประกอบกับความหายาก จึงทำให้ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”

พลับพลึงธารยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “หัวหญ้าช้อง” แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธารมากกว่า เพราะมีดอกคล้ายดอกพลับพลึงแต่ขึ้นอยู่ในน้ำ ซึ่งสถานะของพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES และไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใดๆ ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในระดับพื้นที่ ชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่พบพลับพลึงธาร ก็ได้มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า เช่น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย พลับพลึงธารบ้านบางวัน เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน

จากการเริ่มต้นสำรวจการแพร่กระจายพันธุ์พลับพลึงธารตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี2566-มีนาคม 2567 คลอบคลุม 35 คลอง รวมพลับพลึงธารได้จำนวน 208,854 กอ ซึ่งเปรียบเทียบการสำรวจในช่วง ปี2561 ครอบคลุม 20 คลอง พบพลับพลึงธารจำนวน 2,3828 กอ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อผลการสำรวจพลับพลึงธารมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ การสร้างเครือข่าย และชุมชนให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ จากการเดินสำรวจทุกๆลำคลอง พลับพลึงธารปริมานเพื่มขึ้นโดยการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ และการฟื้นฟูโดยการปลูกทั้งตะกร้า และช่วงเวลาเหมาะสมการปลูกจึงทำให้อัตราการรอดสูง

เพื่อนๆ สามารถไปชมดอกพลับพลึงธารได้ประมาณช่วงปลายเดือนกันยายน – ธันวาคมของทุกปี

ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย และ เพจพลับพลึงธาร FC ภาพ เพจพลับพลึงธาร FC