ภูเก็ต – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สร้างปรากฏการณ์อย่างต่อเนื่องกับงาน“VIJITR 5 ภาค @ภูเก็ต นำเสนอแนวคิด “Pearls of Andaman the Undiscovered Treasure” ในวันที่ 24 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 เนรมิตดินแดนเหมืองแร่แห่งเมืองภูเก็ต ด้วยเทคนิคสมัยใหม่หลากหลายมิติ ที่จะมาเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยวยามค่ำคืนอันน่าอัศจรรย์ กับความอลังการทั้ง 15 จุดการแสดงใน 2 พื้นที่ไฮไลต์ของจังหวัด ได้แก่ เมืองเก่าภูเก็ต และสวนสาธารณะสะพานหิน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ เป็นพื้นที่อัตลักษณ์ที่ 4 ภายใต้โครงการ “VIJITR 5 ภาค” หวังสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวจริงในพื้นที่

งาน VIJITR 5 ภาค @ภูเก็ต มาพร้อมคอนเซปต์ “Pearls of Andaman the Undiscovered Treasure” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 1 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 24.00 น.

พบกับเรื่องราวทุกมิติความงดงามของวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเพอรานากันที่ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบัน และร่วมดำดิ่งไปสู่ใต้ท้องทะเลเพื่อเสาะหาไข่มุกอันดามันของจังหวัดภูเก็ตด้วยเทคนิคสมัยใหม่

จัดเต็มแสง เสียง สุดตระการตา ผสมผสานการแสดงเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยให้เดินทางมาร่วมสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวยามค่ำคืนอันแสนอัศจรรย์กับ 15 จุดการแสดงใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตนครา (อาคารธนาคารชาร์เตอร์เดิม) เมืองเก่าภูเก็ต และ สวนสาธารณะสะพานหิน ซึ่งแต่ละพื้นที่ มีรายละเอียดกิจกรรมที่แตกต่างอย่างลงตัว ดังนี้

  • พื้นที่การแสดงที่ 1 พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตนครา (อาคารธนาคารชาร์เตอร์เดิม) เมืองเก่าภูเก็ต จัดการแสดงจุดที่ 1 “เมืองแห่งสีสัน สวรรค์แดนใต้” จัดแสดง Mapping เทคโนโลยีแนวสมัยใหม่ สไตล์ Modern Art บอกเล่าความสวยงามของลวดลายอาคารในรูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส และการตกแต่งรายละเอียดด้วยศิลปะจีน อันเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ตตั้งแต่อดีตกาลจนปัจจุบัน

– พื้นที่การแสดงที่ 2 สวนสาธารณะสะพานหิน นำเสนอ 14 จุดการแสดง และ 1 จุดแลนด์มาร์ค ประกอบด้วย

– จุดที่ 2 “ยะหยาอันดามัน” นำสัญลักษณ์คู่เมืองภูเก็ต “น้องยะหยา” มาออกแบบประยุกต์เข้ากับชุดยะหยา ประดับด้วยมงกุฎและสร้อยไข่มุกอันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง พร้อมหางคล้ายเงือกสีน้ำทะเล เพื่อนำเสนอความสวยงามของทะเลอันดามัน

– จุดที่ 3 “ประตูสู่ทะเลอันดามัน” การเดินทางเข้าสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนในอุโมงค์ป่าโกงกางที่มีความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติ

– จุดที่ 4 “ปูแห่งท้องทะเลอันดามัน” จุดถ่ายภาพที่นำเสนอวิถีของสัตว์ทะเลแห่งท้องน้ำอันดามันท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในป่าโกงกาง

– จุดที่ 5 “สีสันแมงกะพรุน” สัมผัสความพลิ้วไหวแห่งสายน้ำ ของเหล่าบรรดาแมงกะพรุนหลากสีสันที่พร้อมจะนำพาทุกท่านดำดิ่งไปสู่โลกมหัศจรรย์ใต้ท้องทะเลอันดามัน

– จุดที่ 6 “วิจิตรศิลป์แห่งความยั่งยืน” Art Installation รูปเต่าที่ทำจากเศษขยะทะเล นำเสนอการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและการสร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารเรื่องขยะทะเล

– จุดที่ 7“แสงวิจิตรขอบฟ้าอันดามัน” ห้องแห่งความงามของแสงไฟระยิบระยับ ดั่งแสงอาทิตย์ต้องกับผืนน้ำยามอาทิตย์อัสดง

– จุดที่ 8 “แสงสีแห่งความหลากหลาย” เส้นทางแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพศ ภาษาและเชื้อชาติ ผ่านเส้นแสงสีรุ้งที่สะท้อนภาพเมือง “ภูเก็ต” ที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและความสวยงามของธรรมชาติ ดั่งสวรรค์แดนใต้

– จุดที่ 9 “มหัศจรรย์สวรรค์ใต้ท้องสมุทร” ทุ่งปะการังแห่งสีสัน กับความมหัศจรรย์ของฝูงสัตว์น้ำใต้ท้องทะเล ที่กำลังแหวกว่ายและโชว์สีสันแห่งใต้ท้องสมุทร

– จุดที่ 10 “บุหงาใต้มหาสมุทร” ทุ่งดอกไม้ทะเล ที่โชว์แสงดั่งหิ่งห้อยระยิบระยับใต้ท้องน้ำ รวมถึงแมงกะพรุนที่เล่นล้อกับแสงเกลียวคลื่น

– จุดที่ 11 “บุปผชาติแดนเหมืองแร่” ความสวยงามของผีเสื้อหลากหลายสีในทุ่งดอกไม้ ตั้งตระหง่านคู่กับรถขุดแร่เก่า สะท้อนเรื่องราวของภูเก็ต จากดินแดนเหมืองแร่สู่เมืองแห่งการท่องเที่ยวที่โด่งดังระดับโลก

– จุดที่ 12 “สีสันอารยธรรมแดนใต้” ความสวยงามของโคมไฟผ่านลายผ้าท้องถิ่น ที่ใช้ประดับประดาเมืองเพื่อการเฉลิมฉลองความมีสีสันและวัฒนธรรมของภาคใต้

– จุดที่ 13 “เกลียวคลื่นแห่งวิจิตรอันดามัน” ภาพความวิจิตรสวยงามของใต้ท้องทะเลอันดามัน ที่เต็มไปด้วยสีสันของเหล่าสัตว์ทะเล ปะการัง แหวกว่ายบนผืนผ้า เสมือนเกลียวคลื่น

– จุดที่ 14 “แสงระยับจับเกลียวคลื่น” ความเคลื่อนไหวของเกลียวคลื่นที่สวยงามระยิบระยับยามต้องแสง

– จุดที่ 15 “ไข่มุกอันดามัน” ลูกบอลไฟ ที่เสมือนไข่มุก ฟองคลื่น และฟองอากาศในท้องทะเลอันดามัน และจุดแลนด์มาร์คของงานฯ “ภูเก็ตวิจิตรตระการตา” ป้ายไฟจัดแสดงชื่องานที่มีความสวยงาม ตั้งตระหง่านบริเวณหน้างานที่ใครต่างก็ต้องมาถ่ายภาพเช็กอิน

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงรอบพิเศษ ด้วยการผสมผสานระบบเทคนิค Light & Sound ประกอบเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา 19.00-22.30 น. ของทุกวัน พร้อมเพิ่มเติมความพิเศษกับการแสดงโชว์วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบร่วมสมัย (Contemporary Show) ในวันที่ 24-25, 30-31 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2567 รอบเวลา 19.00 น. และในเวลา 19.30 น. ของวันดังกล่าว พบกับการแสดงพลุดอกไม้ไฟและการแสดงควงกระบองไฟสุดตระการตา

โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถเที่ยวชมการแสดงแสง เสียงตามจุดต่าง ๆ ในลักษณะ Walking Tour รวมทั้งยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การแสดงดนตรีจากศิลปินท้องถิ่น การออกร้านสินค้าชุมชน อาหารท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ททท. ยังเพิ่มความพิเศษให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสนุกเพื่อแลกรับของที่ระลึกพิเศษจาก ททท. ผ่านช่องทาง LINE Official Account @TripNiceDay เพียงถ่ายรูปและเช็คอินปักหมุดให้ครบ 15 จุดการแสดง

​ทั้งนี้ โครงการงาน “VIJITR 5 ภาค” ยังมีกำหนดจัดขึ้นอีกในพื้นที่อัตลักษณ์สุดท้าย ณ จังหวัดพิษณุโลก

ในวันที่ 7–15 กันยายน 2567 สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : VIJITR 5 ภาค และ Facebook Page : TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง