ศาลหลักเมือง หมายถึงที่สิงสถิตของวิญญาณที่ปกป้องบ้านเมืองให้ปลอดภัย ป้องกันบ้านเมืองจากอริราชศัตรูทั้งหลาย และช่วยปกป้องประชาชน

ในสมัยโบราณถือว่าพิธีสร้างพระนคร หรือสร้างบ้านสร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง คือต้องฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาท ต้องเอาคนที่มีชีวิตฝังในหลุมทั้งเป็น เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรู มิให้โรคภัยไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองบ้านเมือง ในการทำพิธีดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุมจึงจะศักดิ์สิทธิ์ มีการดูฤกษ์ยามเพื่อค้นหาคน วิธีการก็คือ ระหว่างที่นายนครเที่ยวเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปนั้น ใครขานรับขึ้นมาก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม

หลุมเสาหลักเมืองนั้นจะผูกเสาคานขนาดใหญ่ ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเชือกสองเส้นหัวท้าย ให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามแนวนอน ส่วนเสาหลักเมืองนั้นจะถูกแขวนให้เป็นแนวตั้ง ครั้นถึงวันที่กำหนดจะกระทำการ ก็มีการเลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายนั้นให้อิ่มหนำสำราญ แล้วแห่แหนนำไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็มีรับสั่งให้บุคคลทั้งหมดนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ มีการแจ้งข่าวให้ประชาชนรู้กันให้ทั่ว เมื่อมีคนมาชุมนุมกันมากพอเพื่อเป็นสักขีพยาน และพอถึงเวลาตามฤกษ์ ก็จะตัดเชือกปล่อยให้เสาหล่นลงมาทับคนที่ถูกเลือกให้อยู่ในหลุม ตราบชั่วนิรันดร

คนโบราณเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกว่า ผีราษฎร์ และคนธรรมดาที่ร่ำรวยก็จะใช้วิธีนี้แก่ทาสของตน เพื่อใช้ให้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อน

คนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อให้เป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้น ต้องเลือกคนให้ได้ตามลักษณะที่โหรพราหมณ์กำหนด จะไม่ใช้นักโทษที่ต้องโทษประหาร แต่จะเป็นคนที่อยู่ในวัยต่างๆ กัน ตั้งแต่คนที่อายุมาก จนถึงเด็กผู้หญิงและผู้ชาย ทุกคนต้องมีฐานะเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน และต้องเกิดตามที่โหรกำหนด ถ้าเป็นชายต้องไม่มีรอยสัก เป็นหญิงต้องไม่เจาะหู เมื่อถูกนำตัวมาก็ให้สั่งเสียร่ำลาญาติพี่น้อง แล้วก็จะถูกนำตัวไปลงหลุม ญาติพี่น้องก็จะได้รับพระราชทานรางวัล หรือยศถาบรรดาศักดิ์

แต่ความเชื่อเรื่องฝังคนทั้งเป็นนี้ เข้าใจว่าจะมีการบอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นการเชื่อแบบชาวบ้านโดยที่ไม่มีหลักฐานไตร่ตรองจนถึงกับนำมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์ก็มีเท่าที่พบมีอยู่แห่งหนึ่งคือ การฝังหลักเมืองของเมืองถลาง ในหนังสือ “ประวัติจังหวัดภูเก็ตฉบับฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เมื่อพ.ศ.2500 ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นและได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้โดยเรียกว่า “บ้านเมืองใหม่” เมื่อจัดหาที่ได้แล้วจึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมืองโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม 32 รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ 7 วัน 7 คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง (ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า สี่หูสี่ตาคือกำลังมีครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ได้ประกาศป่าวร้องไปเรื่อย ๆ ไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหน มา ไปประจำที่ ในที่สุดจึงไปได้ผู้หญิงชื่อนางนาคท้องแก่ประมาณ 8 เดือนแล้วนางนาคได้ขานตอบขึ้น 3 ครั้ง แล้วได้เดินตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ปากหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลักเมืองเป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง”

ตามเรื่องข้างต้นนี้ ไม่มีในพงศาวดาร คนเขียนขึ้นตามที่เคยฟังเขาเล่ากัน หรือจับเอาเรื่อง “ราชาธิราช” เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทมาเป็นพิธีฝังหลักเมือง ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ครั้นวันฤกษ์พร้อมกันคอยหาฤกษ์แล้วนิมิตกึ่งฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์แล้ว ก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุม จึงยกเสาปราสาทนั้นลงหลุม”

บางทีจะเป็นเรื่องนี้เองก็ได้ ที่คนเอาไปโจษขานเล่าลือกันแล้วเลยหลงเข้าใจผิดไปว่า การฝังหลักเมืองหรือประตูเมืองนั้นต้องฝังคนท้องทั้งเป็นหรือคนที่มีชื่อว่าอิน จัน มั่น คง จนพวกฝรั่งฟังไม่ได้ศัพท์จึงเอาไปเขียนอธิบายกันยืดยาว

ตามตำราพระราชพิธีฝังหลุมพระนคร หรือที่เรียกอีกอยางหนึ่งว่า “ตำราพระราชพิธีนครฐาน” ฉบับโบราณก็มีอยู่หลายฉบับได้พรรณนาพิธีการตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายอย่างละเอียดพิสดาร ก็ไม่มีตอนใดกล่าวถึงคนชื่อ อิน จัน มั่น คง หรือคนมีท้อง มีแต่ให้เอาดินจากทิศทั้ง 4 มาปั้นเท่าผลมะตูม สมมติว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟลม มีคนถือก้อนดินคนละก้อนยืนปากหลุมทั้ง 4 ทิศเมื่อทำพิธีมีโหรผู้ใหญ่ถามถึงก้อนดินแต่ละก้อนนั้นมีคุณสมบัติประการใดผู้ที่ถือก้อนดินก็ตอบไปตามลำดับคือ

  1. ธาตดินมีพระคุณจะทรงไว้ซึ่งอายุพระนครให้บริบูรณ์ด้วยคามนิคมเป็นที่ประชุมประชาชนพลพาหนะตั้งแต่ประถมตราบเท่าอวสาน
  2. คนถือธาตุน้ำตอบว่า มีพระคุณให้สมเด็จบรมกษัตริย์แลเสนาอำมาตย์ราษฎรทั้งหลายเจริญอายุวรรณะสุขะพละสิริสวัสดิมงคลทั้งปวง
  3. คนที่ถือธาตุไฟตอบว่า มีพระคุณให้โยธาทหารทั้งปวงแกล้วกล้า มีตบะเดชะแก่หมู่ข้าศึก
  4. คนที่ถือธาติลม ตอบว่ามีพระคุณให้เจริญสมบัติธนธัญญาหารกสิกรรมวาณิชกรรมต่าง ๆ

เมื่อกล่าวตอบครบแล้วก็ทิ้งก้อนดินนั้นลงในหลุมแล้วเชิญแผ่นศิลายันต์ลงในหลุม และเชิญหลักตั้งบนแผ่นศิลานั้น อัญเชิญเทวดาเข้าประจำรักษาหลักพระนคร  ที่เหลือก็ขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของเราเองที่จะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่าการตั้งศาลหลักเมืองภูเก็ต นั้นมีการฝังคนจริงหรือไม่ (อ้างอิง : กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ)

โดยปกติแล้ว แต่ละจังหวัดจะมีศาลหลักเมืองจังหวัดละหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่จังหวัดภูเก็ตนั้น มีศาลหลักเมืองถึง 4 แห่ง มีชื่อดวงวิญญาณที่สิงสถิตเป็นผู้หญิงทั้งหมด และสร้างขึ้นจากไม้ตำเสาซึ่งเป็นไม้ที่แข็งแกร่งที่สุด

  1. ศาลหลักเมืองเมืองใหม่ หรือศาลหลักเมืองแม่จวง ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองใหม่ ตรงหลัก ริมถนนเทพกระษัตรี ศาลถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2352 แต่ปัจจุบันเป็นเสาที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยการนำเสาใหม่ทับเสาเก่า เนื่องในโอกาสฉลอง 200 ปี วีรสตรีเมืองถลางเมื่อ พ.ศ. 2528 เสาแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในศาลาหลังคา 2 ชั้น ด้านหน้าบันเป็นประติมากรรมลวดลายไทย เสาหินขัดทั้ง 4 ด้าน ศาลหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทางเดินปูด้วยหินอ่อน ศาลแห่งนี้นิยมขอพรทางด้านการงาน เช่น การเลื่อนขั้น หรือเสริมอำนาจบารมี
  1. ศาลหลักเมืองท่าเรือ หรือศาลหลักเมืองแม่ดวง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ ต.ศรีสุนทร เป็นศาลา 1 ชั้น ยอดหลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา ที่หน้าบันเป็นประติมากรรมรูปเทพพนม ทั้งและพื้นศาลาปูด้วยหินอ่อนทั้งหมด และที่ศาลแห่งนี้มีเรือพายขนาด 1 คนนั่งพร้อมไม้พาย ด้วยมีความเชื่อกันว่า แม่หลักเมือง ณ ที่แห่งนี้ เคยไปเข้าฝันคนสมัยก่อนขอเรือสัก 1 ลำ เพื่อเอาไว้พายไปไหนมาไหน เพระสมัยก่อนที่บริเวณนี้เป็นเขตติดกับทะเล ศาลที่นี่หันหน้าออกไปทางทิศตะวันออก ศาลหลักเมืองที่นี่ มีประวัติยาวนานกว่า 2000ปี นิยมมาขอพรทางด้านการงาน ความรักและขอบุตร
  1. ศาลหลักเมืองป่าสัก หรือศาลหลักเมืองแม่สร้อยแก้ว ตั้งอยู่ที่วัดร้างป่าสัก (วัดพระขาว) เส้นทางถนนสาย เชิงทะเล- บ้านดอน เข้าไปในบริเวณปากทางวัดก็จะพบศาลที่ตั้งเสา ด้านหน้าบันมีรูปเทพพนม ศาลที่นี่หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ และบริเวณที่ตั้งศาลแห่งนี้ ในสมัยก่อนเป็นแหล่งที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม นิยมขอพรทางด้านการแข่งขันและชัยชนะ เช่นการสอบการเลือกตั้งและการแข่งกีฬา
  1. ศาลหลักเมืองเลพัง ศาลหลักเมืองเจ้าแม่เกษิณี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.เชิงทะล บริเวณหาดเลพัง ข้างโรงแรมบันยันทรี ศาลหลักเมืองที่นี่รอบ ๆ ประดับไปด้วยดอกไม้ และต้นไม้สวยๆ แม่หลักเมืองที่นี่มีชื่ออันเพราะพริ้งว่า “เจ้าแม่เกษิณี” ชาวบ้านแนะนำให้ขอพรอะไรก็ได้แต่ขอเพียงอย่างเดียว

ดูจากจุดที่ตั้ง และการหันหน้าของศาล ศาลหลักเมืองท่าเรือหันหน้าไปทางทิศเหนือ ศาลที่เมืองใหม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ศาลที่วัดร้างป่าสักหันหน้าไปทางทิศเหนือ ศาลที่หาดเลพังหันหน้าออกไปสู่ทะเลทางด้านทิศตะวันตก จึงสันนิษฐานได้ว่า ทุกจุดที่ตั้งศาลเป็นการปกป้องเมืองถลางอย่างแท้จริง