ภูเก็ต – สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตและวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านเคียน  นำโดย นางสาวสุภาวดี ไพพักตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, นายสมศักดิ์ โสภานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และ นายณัฐพล สังขรักษ์ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านเคียน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสาธิตวิธีการทำเมนู ’ยำหย่านัด‘ เพิ่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงของดีของ จังหวัดภูเก็ต ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารถิ่นของจังหวัด

เมนู “ยำหย่านัด” เป็นเมนูที่อยู่คู่ครัวชาวภูเก็ตมายาวนาน และได้รับการถ่ายทอดสูตรจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งวัตถุดิบก็หาง่าย อาศัยของที่มีอยู่รอบตัวมาประกอบอาหารอย่างไม่ซับช้อนแต่มีความเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาความเป็นภูเก็ตแท้ๆ

ยำหย่าหนัด ปรุงโดยการนำสับปะรดหรือ หย่านัด ผลไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับ GI มายำกับ เคยย่าง (กะปิภูเก็ต) หอมแดง พริก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชผักสมุนไพร และเมื่อได้รับประทานจะดีต่อสุขภาพ ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารปรับสมดุลให้แก่ร่างกายอีกด้วย

“ยำหย่านัด” มีวิธีการและขั้นตอนการปรุงง่ายๆ ดังนี้

  • หั่นหย่านัด (สับปะรด) และแตงกวา ให้เป็นชิ้นบาง ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  • เตรียมกะปิย่างไฟให้หอม / โขลกปลาฉิ่งฉ้างพอแหลก/ ซอยหอมแดง/ หั่นพริกขี้หนู ต้นหอม ผักชี/ ทอดเม็ดกาหยี (มะม่วงหิมพานต์) สำหรับโรยหน้า
  • นำหย่านัดขยำกับกะปิ หอมแดง ปลาฉิ้งฉ้าง แตงกวา/ใส่พริกขี้หนู ปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือเล็กน้อย/โรยเม็ดกาหยีทอด ผักชี ต้นหอม พร้อมเสริฟ

 เคล็ดลับการปรุง

– ต้องใช้หย่านัด (สับปะรด) ภูเก็ตเท่านั้น เพราะมีความหวานและกรอบลงตัว

– หย่านัดต้องสุกพอเหมาะ ไม่สุกงอมจนเกินไป จะช่วยชูรสเปรี้ยวของยำ

–  เคย (กะปิภูเก็ต) ต้องใช้กะปิอย่างดีและนำไปย่างไฟก่อน จะช่วยเพิ่มความหอมยิ่งขึ้น

–  เริ่มยำโดยนำหย่านัด (สับปะรด) ขยำกับกะปิ เพื่อใช้ความเปรี้ยวตัดความเค็ม

– ปลาฉิ้งฉ้างต้องใช้ปลาฉิ้งฉ้างอบอย่างดี เนื่องจากจะมีรสชาติหวานและไม่เค็มมากนัก

ด้านคุณค่าควรแก่การสืบสานและถ่ายทอด

ยำหย่าหนัด เป็นเมนูอาหารถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ควรได้รับการรักษาและสืบทอด เป็นรากเหง้าของท้องถิ่น ที่เป็นภูมิปัญญาที่ควรแก่การสืบต่อรุ่นสู่รุ่น โดยมีจุดเด่นคือเป็นเมนูที่ทำง่าย ทำรับประทานมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด น่าเสียดายที่คนภูเก็ตรุ่นหลังๆ แทบจะไม่เคยได้รับประทานหรือรู้จัก และไม่มีร้านอาหารทำจำหน่าย อีกทั้งเมนนี้ยังเป็นเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเป็นกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ข้อมูล/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต