ภูเก็ต – วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. ในกิจกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมมุกอันดา ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธาน
นางสาวชนัญญา พิริยานสรณ์ ผู้จัดการแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า, นายศศิศศ์ ถาวรว่องวงศ์ รองประธานกรรมการบริหารเครือกะตะกรุ๊ปและรีสอร์ท พร้อมด้วย นายศุภกิจ ด้วงเงิน กรรมการแข่งขันเรือใบคนพิการ ได้ร่วมแถลงข่าว ความพร้อมการจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ระหว่าง วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567 บริเวณอ่าวกะตะ จังหวัดภูเก็ต
โดยในปีนี้ บริษัท พีเคซีอาร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ สโมสรเรือใบราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ขึ้น ซึ่งการแข่งขันดังกล่าว ถูกจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยมีการจัดงานในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีมาโดยตลอด ซึ่งงาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย
การแข่งขันครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ที่เกาะภูเก็ต มีการแล่นเรือในน่านน้ำทะเลอันดามัน ได้รับการสนับสนุนจากโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ (Le Royal Meridien Phuket Yacht Club) โดยครั้งนั้นมีการแข่งเรือใบ 4 ประเภท ได้แก่ Keelboats, Catamarans, Lasers และ Boards ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศทั่วโลก
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นการแข่งขันเรือใบที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย การแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในทุกปี
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ยังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึงสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ กองทัพเรือไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และชุมชนท้องถิ่นของภูเก็ต โดยมีการจัดงานเลี้ยงและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง
ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน ออกแบบโดย ม.ล. ตรีทศยุทธ เทวกุล หนึ่งในนักแล่นเรือ ผู้ริเริ่มการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ซึ่งถ้วยรางวัล ได้รับแรงบันดาลใจจากการหลอมรวมของใบเรือและหมายเลข 9 อันเป็นองค์หลักของการออกแบบถ้วยรางวัลพระราชทานนี้
ในปี 2560 มีการปรับถ้วยรางวัลพระราชทานเป็น 10 ใบเรือ ประดับด้วยตราพระปรมาภิไธยประจำรัชกาลที่ 10 โดยใบเรือที่งดงามทั้ง 10 ใบ เชิดใบอย่างสง่างามจากจุดศูนย์กลาง รายล้อมแกนหลักที่ทำมาจากเสาเงิน โดยมีปลายแหลมของใบเรือเป็นที่ตั้งของตราสัญลักษณ์อักษร พระปรมาภิไธยย่อ วปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ โดยวัสดุเป็นเงินทั้งหมด ตั้งอยู่บนฐานไม้แอช ที่สื่อความหมายถึงท้องทะเล
ปัจจุบัน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ได้กลายเป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย แบ่งการแข่งขันออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ เรือเรซซิ่งคลาส เรือความเร็วสูง เรือมัลติฮัลล์ และเรือดิงกี้ โดยมีนักแล่นเรือใบเข้าร่วมกว่า 500 คน และมีเรือใบกว่า 90 ลำในแต่ละปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนเรือเข้าร่วมทั้งสิ้น 151 ลำ โดยแบ่งเป็น เรือใบคีลโบ๊ทและมัลติฮัลล์ จำนวน 30 ลำ และเรือใบเล็กดิงกี้ จำนวนกว่า 120 ลำ
“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังเป็นการสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อพัฒนา Marina Hub ให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของประเทศ การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ได้รับผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง มีเงินสะพัดกว่า 200 ล้านบาท ตลอดสัปดาห์การจัดงาน จังหวัดภูเก็ตได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักกีฬาและนักเดินทางมากยิ่งขึ้น รวมถึงการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักกีฬาเยาวชนที่ต้องการฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในระดับสากล อันจะเป็นอีกโอกาสสำคัญในการเฟ้นหานักกีฬาเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเรือใบต่อไป
สำหรับ การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 วันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานกีฬาเรือใบตามรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบที่ทรงพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับสากล ดำเนินตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขันเรือใบระดับโลกของไทย ดึงดูดการแข่งขันเรือใบระดับกรังปรีซ์ รายการ 52 Super Series ให้สนใจเข้ามาจัดการแข่งขันที่ประเทศไทย เพื่อฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในสนามระดับสากลของนักกีฬาเรือใบไทย เป็นการเฟ้นหานักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเรือใบและการท่องเที่ยวทางทะเลมีการเจริญเติบโต เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นายศุภกิจ ด้วงเงิน กรรมการแข่งขันเรือใบคนพิการ กล่าวว่า ในปีนี้ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ได้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเป็นปีแรก ซึ่งมีนักกีฬาสนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 7 ราย ถือเป็นสิ่งที่ดีและยกระดับการแข่งขันเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
และในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมบียอนด์กะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ. ภูเก็ต ด้วย