
ภูเก็ต – วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ชาวภูเก็ตร่วมเดินเเห่เฉลิมฉลองการได้รับประกาศ “ต้มยำกุ้ง” และชุดแต่งกาย “เคบายา” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การยูเนสโก เป็นภาพที่สวยงามสุดตระการตา




นำขบวนโดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชาวภูเก็ตต่างสวมใส่ชุดเคบายา ชุดพื้นเมือง บาบ๋า ย่าหยา ร่วมขบวนอย่างสวยงาม เคลื่อนขบวนเฉลิมฉลองจากสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) ไปยังหน้าภัตตาคารบลูอิเลฟเฟ่นภูเก็ตรวมระยะทาง 850 เมตรโดยมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจำนวนมากพร้อมเก็บภาพความประทับใจตลอดเส้นทาง


ก่อนที่จะพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กงสุลกิตติมศักดิ์ นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทย เเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ภัตตาคารบลูเอเลเฟ่นภูเก็ต

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวแสดงความยินดีในงานเฉลิมฉลองว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการประกาศยกย่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 2 รายการ ได้แก่ “ต้มยำกุ้ง” และ ชุดแต่งกาย “เคบายา” โดยองค์การยูเนสโก ซึ่งการได้รับยกย่องในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนชาวไทย ทั้งในส่วนผู้ประกอบอาหาร และผู้บริโภคต่างเกิดความภาคภูมิใจ และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจหาชิมต้มยำกุ้งกันมากขึ้น สร้างรายได้และเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากชาวประมงจนถึงผู้ประกอบกิจการอาหาร และผู้ที่เป็นแรงงานในกิจการดังกล่าว


ส่วนชุดแต่งกาย “เคบายา” เป็นวัฒนธรรมร่วมของ 5 ประเทศ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชุมชนไทยจรดแหลมมลายู ที่มีมากว่า 400 ปี “เคบายา” เป็นชุดที่ก้าวผ่านกาลเวลา เชื่อมรอยต่อของชุมชนต่าง ๆ ทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม จีน ชวา และเพอรานากัน มีความงดงามที่เกิดจากการร่วมกันสร้างสรรค์ของสตรีในชุมชนต่าง ๆ เเละหลังจากนี้จะส่งเสริมสนับสนุนให้ส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ต เเต่งกายชุดเคบายาทุกวันพฤหัสบดี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมต่อไป




นอกจากนี้ การฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รัฐบาลและประชาชนไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอดรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” โดยจะร่วมกันรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษาและทุกศาสนา ให้ร่วมกันส่งเสริม รักษา และสืบทอดมรดกภูมิปัญญา ทั้ง 2 รายการในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้มรดกภูมิปัญญา “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรมต่อไป
