วัดพระนางสร้าง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 79 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 8 แปลง เนื้อที่ 84 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา
วัดพระนางสร้าง ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2301 ตามตำนานพระนางเลือดขาว เล่าสืบมาว่า มเหสีของกษัตริย์เมืองใดไม่ปรากฏแน่ชัด ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับมหาดเล็ก จึงถูกสั่งประหารชีวิต ก่อนถึงวันประหาร พระนางได้ขอผ่อนผันไปนมัสการพระบรมธาตุที่ศรีลังกาก่อน เมื่อกลับมาได้แวะที่เกาะถลาง และได้สร้างวัดขึ้น ปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียน พร้อมทั้งนำของมีค่าทางพุทธศาสนาเช่นพระพุทธรูปฝังไว้ในเจดีย์ด้วย แล้วเดินทางกลับ ต่อมาจึงได้เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระนางสร้าง” ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า วัดนางสร้าง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 9.50 เมตร ยาว 17.50 เมตร เป็นอุโบสถหลังเก่าสร้างโดยใช้อิฐและปูนขาว บูรณะมาหลายครั้ง ต่อมาได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ด้วยศิลปะของไทยและจีน ผนังด้านนอกเป็นสีชมพูและฟ้า ที่ระเบียงคดประดับด้วยสัตว์หิมพานต์สีทอง เหนือระเบียงคดเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายรอบด้าน โดยมีพญานาค 5 เศียรเลื้อยอยู่บนกลีบบัว ประตูเข้าระเบียงคดด้านหน้าทำเป็นพระพุทธรูปบิณฑบาต เหนือซุ้มประตูมีหน้าบันรูปช้างสามเศียรสีทอง
เสาภายในระเบียงคดแต่ละต้นทำเป็นมังกรสีทองพันเสา มีทวารบาลอยู่ด้านนอกอุโบสถ ศาลาการเปรียญกว้าง 16 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารตึกและครึ่งตึกครึ่งไม้ หอฉัน หอระฆัง และฌาปนสถาน
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานปางสมาธิจำนวน 3 องค์ ภายนอกหุ้มด้วยปูนขาว พระเพลากว้าง 3 เมตร ภายในองค์พระทั้งสามมีพระสมัยศรีวิชัยสร้างด้วยโลหะผสมอายุกว่า 1300 ปี ที่ทำเช่นนี้เพื่อซ่อนไว้ ทางวัดเพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2526 ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธไสยาสน์ยาว 3.50 เมตร เล่ากันว่ามีพระพุทธรูปทองคำอยู่ภายในองค์พระ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
วัดพระนางสร้างเป็นวัดที่มีลายแทงยาวที่สุด มีความว่า
อาถรรพณ์ฤาพบได้ ฤาต้องปิด ฤาต้องบัง ฤาบอก ฤาเล่ามิได้ ฤานำ ฤารู้ ฤาอุบ
ฤาได้ ฤาบุญตัว ฤาเปิด ฤานำ ฤาบอก ฤาได้ ฤาบาปแล
พิกุลสองสารภีดีสมอแดง จำปาจำปีตะแคง มะขามหนึ่ง
กระท้อนหน้า ราชารอบ ขอบระฆัง ดังเจดีย์ มีศาลารอบ ด้วยเข็มหนึ่ง
ไม้เลือดหลังสุด ลูกมุด ลูกม่วง ชมพู่ดูโบสถ์ ฤาเปิดได้ ดั่งลายแทงแลฯ
เส้นแสงลายแทงหนึ่ง นางสร้าง ฤาเปิด ฤาดู ฤาชม ฤากราบไหว้บูชา
ฤาได้บุญกุศลแล ฤาดีได้เจ้าเมืองเปิดแลฯ ฤาของแท้แน่ไซร้ ฤาได้หญิงลือหญิงแลฯ
เส้นแสงลายแทงสาม ฤาอย่าข้ามใจฤา เจ้าเมืองฤา ฤาพิษฐาน ฤารูปงาม ฤาใจงาม ฤาทรัพย์สิน
ฤาลาภ ฤายศ ฤาขอได้ลูกหลานหลิน ฤาขอได้ดั่งประสงค์ฤา ฤาถือได้ปฏิบัติแน่ไซร้
ฤาธิษฐานได้ ฤาดั่งลายแทงแลฯ
ลายแทงนี้ พบในอุโบสถวัดพระนางสร้าง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2526 นายมานิต วัลยะเพ็ชร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดกรุพระในอุโบสถ์วัดพระนางสร้างตามลายแทงข้างต้นพบพระพุทธรูปดีบุก บรรจุอยู่ในพระอุทรขององค์พระสารีบุตร
ถัดไปอีกวันที่ 1 มีนาคม 2526 นายอรัญ จินดาพล สมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต ก็พบพระพุทธรูปดีบุกอีกในพระอุทรพระโมคคัลลานะ ทั้ง 2 องค์มีเฉพาะพระพักตร์ขนาดกว้าง 27 ซม. ยาวตั้งแต่บนสุดของพระเศียรถึงพระอังสา 40 ซม. สันพระนาสิกสูงจากริมพระโอษฐ์ 1.5 ซม. หางเบ้าพระเนตรซ้ายขวาห่างกัน 16 ซม. ริมพระโอษฐ์ซ้ายขวาห่างกัน 9 ซม.
พระครูสุนทรสมณกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง มอบหมายให้นายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ตรวจสอบองค์พระพุทธประธานในอุโบสถวัดพระนางสร้าง จึงพบพระพักตร์พระพุทธรูปดีบุกเพิ่มอีก ซ่อนอยู่ในพระอุระองค์พระพุทธเจ้า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 จึงได้เรียกพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ว่า พระพุทธสามกษัตริย์ (ชาวบ้านเรียกว่า พระในพุง)
พระพักตร์พระพุทธรูปที่พบครั้งหลังนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่พบครั้งก่อน คือ ส่วนกว้างตั้งแต่พระกรรณซ้ายขวาห่างกัน 28 ซม. จากยอดของพระเศียรลงไปถึงพระศอ 40 ซม. หางพระเนตรซ้ายขวาห่างกัน 24 ซม. ริมพระโอษฐ์ซ้ายขวาห่างกัน 11 ซม. ปลายสันพระนาสิกสูง 5 ซม.
เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ให้ความเห็นในเบื้องต้นว่า พระพุทธสามกษัตริย์นี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุ 250 ปี มาแล้ว แต่นายประสิทธิ ชิณการณ์ ประธาน “กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ” ในขณะนั้นได้ให้ทัศนะไว้ว่า น่าจะเก่าแก่ถึงสมัยศรีวิชัย ทั้งนี้เพราะวัดพระนางสร้างมีตำนานพระนางเลือดขาวเป็นผู้สร้างวัด ตามที่นายบรรเจิด ประทีป ณ ถลาง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านพรุจำปา ได้ศึกษาค้นคว้าจัดพิมพ์เผยแพร่ไว้ในเอกสารประวัติวัดพระนางสร้าง แม้นับย้อนหลังกลับไปเพียงปลายกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธรูปสามกษัตริย์ก็จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต ด้วยเหตุที่ชาวพุทธทั่วโลกนิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยวัสดุที่มิใช่ดีบุก พระพุทธสามกษัตริย์แห่งวัดพระนางสร้างจึงเป็นพระพุทธรูปดีบุกที่ใหญ่ที่สุด
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน บริเวณอุโบสถ หอระฆัง และเจดีย์ มีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 6 ตารางวา ในบริเวณวัดพระนางสร้าง เป็นโบราณสถานแห่งชาติ แห่งที่ 3 ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2527