วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งเป็นวันที่ทางสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเริ่มจากการจัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ในระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment” มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ
ผลจากการประชุมครั้งนั้น ได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
สำหรับประเทศไทย ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 และได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็น 3 หน่วยงาน คือ 1. กรมควบคุมมลพิษ 2. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ 3. สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
แต่อย่าให้เฉพาะวันที่ 5 มิถุนายน เป็นเพียงวันสิ่งแวดล้อมโลกแค่วันเดียว เพราะพวกเราทุกคนสามารถทำทุกวันให้เป็นเหมือนวันสิ่งแวดล้อมโลกได้
เราสามารถทำอะไรเพื่อโลกเราบ้าง มาดูกันค่ะ
- พกถุงช่วยโลก – ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือ Single–Use Plastic ซึ่งป็นพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้ระยะเวลาย่อยสลายนาน และเมื่อเผาพลาสติกจะเกิดเป็นมลภาวะทางอากาศส่งผลให้โลกร้อน และยังทำให้เกิดสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย เปลี่ยนมาพกถุงผ้าเวลาเดินตลาดหรือใช้ถุงรีไซเคิล จะช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้อีกมากมาย
- ขนส่งช่วยโลก – ลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยการลดการใช้รถยนตร์ส่วนตัว หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรืออาจจะปั่นจักรยาน, เดินไปทำงานเพื่อสุขภาพแทน
- ปลูกต้นไม้ช่วยโลก – ต้นไม้นั้นช่วยฟอกอากาศโดยการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปและปลดปล่อยออกซิเจนออกมา ช่วยกันปลูกต้นไม้เมื่อมีโอกาสวันละต้นสองต้น หลายๆ วันหลายๆ คนก็จะทำให้มีต้นไม้เกิดขึ้นอย่างมากมาย
- ปิดช่วยโลก – สิ่งง่าย ๆ ที่เราสามารถช่วยโลกได้คือ ปิดไฟและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดมลพิษแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
- ช้อปช่วยโลก – เลือกซื้อสินค้าและวัตถุดิบอินทรีย์ ซื้อของที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติหรือใช้พลาสติกน้อยที่สุด
- กินช่วยโลก – เลือกรับประทานอาหารมังสวิรัติ เพราะการทำปศุสัตว์มีส่วนทำให้โลกร้อน โดยผลวิจัยชี้ว่าการลดกินเนื้อสัตว์ลง 90% สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ แค่กินผักให้มากขึ้น และงดกินเนื้อสัตว์สัก 1 วัน นอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
- สร้างช่วยโลก – สร้างนิสัย ปลูกจิตสำนึกให้ตัวเองและคนรอบข้างเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและหันมาใส่ใจโลกให้มากขึ้น พร้อมทั้งไม่ลืมที่จะแบ่งปันวิธีการดูแลโลกให้ผู้อื่น สองมือเล็ก ๆ ของเราสามารถรักษาโลกใบใหญ่นี้ไว้ได้ ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน
เห็นมั้ยคะว่า เราไม่จำเป็นต้องรอวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อที่จะรักโลก เพราะวิธีการต่างๆ ที่แนะนำไป หากเราทำทุกวัน ก็ถือว่าเราได้รักโลกทุกวัน มาร่วมรักโลกด้วยกันนะคะ
ขอบคุณข้อมูล: forest.go.th และ greenpeace.org