สะพานหิน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมืองภูเก็ต มีลักษณะเป็นชายหาดอยู่สุดถนนภูเก็ตซึ่งยื่นลงไปในทะเลเล็กน้อย

เดิมที บริเวณสะพานหินเป็นท่าเรือสำคัญที่เรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสารใช้เป็นจุดเทียบท่า ถือเป็นท่าเรือใหญ่ของการเดินทางในเขตทะเลอันดามัน เชื่อกันว่าท่าเรือสะพานหินยังเป็นท่าเทียบเรือที่ตัวแทนชาวภูเก็ตซึ่งเดินทางกลับจากประเทศจีนนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) มาเพื่อประกอบพิธีกินผัก จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวภูเก็ตในปัจจุบัน

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสะพานหิน ยังเป็นบริเวณที่เรือขุดแร่ลำแรกของโลกทำการขุดแร่ดีบุกจากอ่าวทุ่งคาซึ่งเป็นทะเลบริเวณสะพานหินขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกด้วย โดยผู้นำเรือขุดแร่ดังกล่าวเข้ามาขุดแร่ คือ กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมลส์ ชาวออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2452 ซึ่งภายหลังก็ส่งผลให้มีการสร้างเรือขุดแร่ขึ้นใช้งานอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 อธิบดีกรมมีความคิดที่จะให้มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงการขุดแร่ด้วยเรือขุดแร่ลำแรกของโลก จึงได้เปิดให้มีการประกวดออกแบบจนสิ้นปี พ.ศ. 2511 มีผู้ประกวดออกแบบทั้งสิ้น 6 ราย ทางคณะกรรมการพิจารณาเลือกแบบของนายชวลิต หัสพงษ์ มาดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิ่งเบอร์ฮัด (อังกฤษ: Tongkah Harbour Tin Dredging Co. Ltd) ที่ตั้งของอนุสาวรีย์ดังกล่าวอยู่บริเวณริมหาดปลายแหลมของสะพานหิน ณ ขณะนั้น

อนุสาวรีย์หลัก 60 ปี เป็นอนุเสาวรีย์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสะพานหิน ภูเก็ต สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ บริเวณสะพานหิน ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์แก่ประชาชน ศูนย์เยาวชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครภูเก็ต รวมถึงศาลาที่ประทับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และศาลเจ้ากิ้วเที้ยนเก้ง สถานที่สักการะพระนางกิ้วเที้ยนเลี่ยนลื้อ และบริเวณปลายแหลมด้านหน้าศาลเจ้า ก็ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในเทศกาลกินผักอีกด้วย

สะพานหินในปัจจุบัน มีการถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยใช้วัสดุส่วนหนึ่งเป็นดินโคลนที่ลอกจากคลองก่อจ๊าน ซึ่งเป็นคลองที่ขุดลอกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่จอดเรือประมงขนาดเล็ก ดำเนินการขุดโดยกัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมลส์ วัสดุอีกส่วนเป็นขยะและซากจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้รับการปรับปรุงใช้เป็นสนามกีฬากลางและศูนย์อำนวยความสะดวกต่างๆ ของเทศบาลนครภูเก็ตส่วนหนึ่ง ใช้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอีกส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันสะพานหินยังมีประติมากรรมใหม่ ชื่อ “ปลาสุริยะ” ซึ่งทางอบจ. ภูเก็ต ร่วมกับ สมาคมศิลป์ภูเก็ต  สมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย และเทศบาลนครภูเก็ต ได้ร่วมกันติดตั้งเพื่อเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ โดยมี คุณอำนาจ บุญสนิท เป็นผู้ประดิษฐ์ประติมากรรมชิ้นนี้