ภูเก็ต – เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยภูเก็จ (ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต) ได้จัดแสดงนิทรรศการ “TIDKOR Young Contemporary Art and Exhibition” ภายใต้โครงการมหกรรมศิลปะนานาชาติ ร่วมสมัย ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการรวบรวมและถ่ายทอดผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินเยาวชน ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี จากทั่วประเทศและต่างประเทศจำนวน 45 คน ที่เดินมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 21 กันยายน 2567 เพื่อขับเคลื่อนให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองศิลปะวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ World Art &Culture Destination ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ภูเก็ต 2025 (Thailand Biennale Phuket 2025)
โดยมีนางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานเปิด และมีนางอัญชลี วานิชเทพบุตร นายกสมาคมศิลป์ภูเก็จ อาจารย์บิน เมืองจันทร์ นายกสมาคมศิลปินนานาชาติภาคใต้ อาจารย์ศักดิ์ชัย อุทธิโท นายกสมาคมศิลปินอีสาน อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย Profeszor Anisuzzaman Anis Banglandeshi Artist และ ศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินเยาวชน คณะติดเกาะ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการจัดงานในครั้งนี้เข้าร่วม
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของศิลปินเยาวชนและศิลปินรุ่นใหม่จำนวน 45 ชีวิต ที่พร้อมใจกันมาติดเกาะ เพื่อร่วมกันสร้างผลงานศิลปะสรรค์ผลงานผ่านแรงบันดาลใจจากการมาเที่ยวภูเก็ต เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดความเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว ลักษณะภูมิอากาศ ลักษณะทางกายภาพ อาหารและอื่นๆ ผ่านทางผลงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งจัดแสดงขึ้นในตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน – 30 กันยายน 2567 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยภูเก็จ
โดยการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ถูกออกแบบให้เสมือนเป็นการเดินทางรอบเกาะผ่านกล่องหลากสี ซึ่งมีทั้งอุโมงค์ หน้าต่าง มีการบังคับให้เลี้ยวขึ้นลง การเดินทางจากหาดสู่หาด เมืองสู่เมือง กล่องทุกใบจะมีสีเฉพาะ เพื่อแทนความหมายและลักษณะเด่นของพื้นที่นั้น เช่น สีฟ้าเทอร์ควอยส์ สื่อถึงภูเก็ตทางตอนเหนือนั้นก็คือทะเลและหาดไม้ขาว สะท้อนถึงความเงียบสงบและน้ำทะเลใส สีส้มพระอาทิตย์ตก สื่อถึงภูเก็ตฝั่งตะวันตก แสดงถึงความมีชีวิตชีวาของหาดกะตะ กะรน ป่าตอง และพระอาทิตย์ตกที่งดงาม สีแดงวัฒนธรรม สื่อถึงภูเก็ตฝั่งตะวันออก แทนประวัติศาสตร์อันยาวนานและการสืบสานจากวัฒนธรรมจีนในเมือง สีเหลืองทอง สื่อถึงภูเก็ตตอนใต้ สะท้อนถึงแหลมพรมเทพอันเป็นไฮไลท์สำคัญ สีเขียวมรกต สื่อถึงภูเก็ตตอนกลาง แทนภูมิทัศน์อันเขียวขจีของเกาะภูเก็ต
ซึ่งการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้เหมือนกับการสร้างเกาะของศิลปินที่สะท้อนความเป็นเมืองภูเก็ตในมุมมองและความรู้สึกที่หลากหลาย ซึ่งคนที่มาร่วมชมนิทรรศการ จะมีความรู้สึกเหมือนกับมาติดเกาะร่วมกับศิลปินผ่านทางผลงานศิลปะ
อย่างไรก็ตามนอกจากจะมีการสื่อความเป็นภูเก็ตผ่านทางนิทรรศกาลผลงานศิลปะ กว่า 50 ผลงานแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานศิลปะแบบแสดงสด ที่ชื่อ “ภูเก็ตของคุณเป็นอย่างไร” อีกด้วย
ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต