ช่วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หากใครได้มาเที่ยวภูเก็ตและไปตามศาลเจ้าต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วเมือง จะสังเกตว่ามีการจัดพิธีไหว้และมีการนำขนมที่เป็นรูปเต่าแดงมาเป็นเครื่องสักการะ พิธีการนี้มีเฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น ซึ่งชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน ได้ถือปฏิบัตืสืบต่อมาอย่างยาวนานในช่วงเทศกาลวันสารทจีน ประเพณีนี้เรียกว่า พ้อต่อ” ซึ่งในปี 2567 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 2 กันยายน 2567

“พ้อต่อ” เป็นพิธีเซ่นไหว้ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอดีต จัดขึ้นในช่วงเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ประตูนรกเปิดออกเพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณให้กลับมาเยี่ยมและรับส่วนกุศลจากลูกหลานบนโลกมนุษย์

ประเพณี “พ้อต่อ” มีรากวัฒนธรรมมาจากอินเดีย เริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องภพภูมิและการอุทิศส่วนกุศลให้กับ “เปตชน” ในพิธี “ศราทธ์” หรือ “สารท” ของพราหมณ์และพุทธ และเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่จีน เกิดการแปลคัมภีร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะพระสูตรฝ่ายมหายาน “อุลลัมพลสูตร” ที่กล่าวถึงการทำบุญใหญ่เพื่อช่วยมารดาจากขุมนรกของพระโมคคัลลานะและ “โยคะตันตระอัคนีชวาลมุขเปรตพลีโยคกรรม” หรือ พระสูตรว่าด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและวิญญาณไร้ญาติ พระสูตรทั้งสองกลายเป็นพระสูตรที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อในสังคมจีน

และเมื่อคติแบบพุทธศาสนาซึ่งรับมาจากอินเดียได้ผสมกลมกลืนกับกับพิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติในเดือน 7 ของชาวจีน ตามคติดั้งเดิมของลัทธิขงจื๊อและเต๋า กลายเป็นประเพณีวันสารทเดือน 7 ที่ถือเป็นเทศกาลสำคัญของชาวจีนตอนใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มจีนกวางตุ้ง แต้จิ๋ว ไหหลำ และฮกเกี้ยน เทศกาลนี้ถูกเรียกว่า “อูหลานผูนเซ่งโห่ย” หรือ “พ้อต่อจ่งเซ้ง” มีความหมายว่า กิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน

ดังนั้น เมื่อชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาสู่ภูเก็ต ประเพณี “สารทจีน” หรือ “พ้อต่อ” จึงกลายมาเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยเชื้อสายจีนชาวภูเก็ตยึดถือปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลในดินแดนอื่น ๆ เพราะประเพณีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการรำลึกและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและพี่น้องชาวจีนที่เดินทางสู่โพ้นทะเลและล้มหายตายจากนอกมาตุภูมิ ซึ่งบางคนไม่มีลูกหลานคอยทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้

ปัจจุบัน ชาวภูเก็ตยังคงยึดถือช่วงเวลาเดือน 7 ตามปฏิทินจีนซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน ของทุกปี ประกอบพิธีเซ่นสังเวยวิญญาณไร้ญาติ โดยจะมีการตั้งเซ่นไหว้ในสถานที่สำคัญของชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะมีของไหว้เป็นกับข้าว อาหารต่าง ๆ เช่นเดียวกับกับเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงตรุษจีน แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ ขนมที่เป็นรูปเต่าสีแดง ที่เรียกว่า “อั่งกู้” หรือ “ตั่วกู้” ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวหรือแป้งหมี่หมักน้ำเชื่อม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ในประเพณีพ้อต่อ โดยทุกครั้งที่มีการจัดพิธีกรรมจะมีการอันเชิญ “พ้อต่อก๊ง” เป็นประธานในพิธีเสมอ ซึ่งการไหว้องค์พ้อต่อก๊งด้วยขนมเต่าแดงนั้น ก็ด้วยความเชื่อที่ว่า เต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน เมื่อเรานำขนมเต่าไปไหว้องค์เทพเจ้าก็จะบันดาลให้เรามีอายุยืนไปด้วย

หากใครได้มาเยือนภูเก็ตในช่วงเทศกาลพ้อต่อ อย่าลืมเข้าไปที่ศาลเจ้า เรียนรู้ประเพณีการไหว้ด้วยเต่าแดง เพื่อประสบการณ์ที่น่าจดจำสักครั้งในชีวิตนะคะ

ขอบคุณข้อมูล มิวเซียมไทยแลนด์